ป.ป.ช. เดินหน้าจัด Clinic Police ITA 2023 (กองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค 1)

20 มี.ค.66 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส จัดกิจกรรม Clinic Police ITA 2023 (กองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค 1) โดยมี พล.ต.อ.วิสนุ  ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมฯ และนายทวิชาติ  นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.  กล่าวรายงาน ณ
โรงแรมรามาการ์เด็นส์ กรุงเทพ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

โดยมีวัตถุประสงค์เพี่อทบทวนและให้คำปรึกษาการเก็บข้อมูลแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้   ส่วนเสียภายในการเก็บข้อมูลแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก ขั้นตอนการจัดเตรียมและเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ รวมถึงการฝึกปฏิบัติการใช้งานระบบ POLICEITA ให้กับผู้แทนสถานีตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาล และตำรวจภูธรภาค 1

สำหรับการดำเนินกิจกรรมฯ ประกอบด้วยการบรรยายและฝึกปฏิบัติ โดย นางสาวชนิดา อาคมวัฒนะ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบและวิชาการ สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงาน ป.ป.ช.และคณะ บรรยายและฝึกปฏิบัติให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ใน 4 เรื่อง ได้แก่

1. ทบทวนและให้คำปรึกษา แนวทางการเก็บข้อมูลแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (Internal Integrity and Transparency Assessment: IIT) ซึ่งเป็นแบบวัดที่เก็บจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีประเด็นการวัดการรับรู้ที่เกี่ยวข้อง การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น ด้านการอำนวยความสะดวก การให้บริการประชาชน การอำนวยความยุติธรรม การรับคำร้องทุกข์จากประชาชน การปฏิบัติอย่างเหมาะสมต่อผู้กล่าวหาหรือผู้ต้องหา หรือพฤติกรรมในเชิงลบที่เกี่ยวข้องกับการรับสินบนก่อให้เกิดความไม่โปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม หรือเป็นผู้ส่งเสริมหรือเป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายเสียเอง นอกจากนี้ยังมีการวัดในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานในด้านอื่น ๆ เช่น การใช้จ่ายเงินงบประมาณ ค่าใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อสวัสดิการสืบสวนฯ การใช้อำนาจและตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ความโปร่งใส
ในระบบการบริหารกำลังพล การใช้ทรัพย์สินของราชการ ระบบการจัดเก็บรักษาเงิน ทรัพย์สินของกลางในคดีหรือทรัพย์สินสิ่งของจากการรับบริจาค และการป้องกันการทุจริต

2. ทบทวนและให้คำปรึกษา แนวทางการเก็บข้อมูลแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (External Integrity and Transparency Assessment: EIT) ซึ่งเป็นแบบวัดที่เก็บจากผู้มารับบริการและประชาชน มีประเด็นการวัดการรับรู้ที่เกี่ยวข้องกับ คุณภาพการให้บริการ การอำนวยความสะดวก การปฏิบัติอย่างเหมาะสมกับผู้เสียหายและผู้ต้องหา พฤติกรรมการรับสินบน รวมไปจนถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ อาทิ การปรับปรุงการให้บริการประชาชนที่ลดอุปสรรค ลดความยุ่งยาก การให้บริการ online การจัดสายตรวจ/ตั้งจุดสกัด การใช้เทคโนโลยีกล้อง CCTV เป็นต้น

3. ขั้นตอนการจัดเตรียมและเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (Open Data Integrity and Transparency Assessment: OIT) ที่มุ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูลที่สอดรับกับการบริหารงานตำรวจและเกิดประโยชน์ต่อประชาชน อาทิ คู่มือการให้บริการประชาชน E–Service แนวปฏิบัติในการจับหรือค้น แนวปฏิบัติในการใช้ดุลยพินิจไม่รับคำร้องทุกข์ในคดีอาญา แนวปฏิบัติในการสอบปากคำของพนักงานสอบสวน สิทธิของผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรม และสิทธิผู้ต้องหา ฯลฯ เป็นต้น


4. การให้คำปรึกษาและฝึกปฏิบัติ “การใช้งานระบบ POLICEITA” ซึ่งเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นสำหรับรองรับการประเมิน online ในทุกเครื่องมืออย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเนื้อหาของหัวข้อบรรยายและฝึกปฏิบัติทั้ง 4 เรื่องนั้น นับว่าเป็นประเด็นสำคัญเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ อันจะนำไปสู่การช่วยยกระดับค่าคะแนน ITA ของสถานีตำรวจได้





ภาพ/ข่าว https://www.nacc.go.th/? (สำนักงาน ป.ป.ช.) , สน.หลักสอง